วันอาทิตย์, 7 เมษายน 2567

NDID คืออะไร National Digital ID เทคโนโลยีที่คนไทยทุกคน ควรรู้จัก

17 มี.ค. 2023
119

NDID คืออะไร National Digital ID เทคโนโลยีที่คนไทยทุกคน ควรรู้จัก

NDID คืออะไร หากคุณใช้บริการการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ หรือสมัครบริการออนไลน์ที่ใช้เงินเข้ามาเกี่ยวข้อง คงได้ยินคำว่า Digital ID ซึ่งจะมาแทนที่การใช้เอกสารต่างๆในอดีตเช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารอื่น ยิ่งในยุคนี้เป็นยุคอินเทอร์เน็ต ที่ไม่ต้องพกเอกสารใดๆเลย หน่วยงานต่างๆดึงข้อมูลจากระบบมาใช้ได้ทันที สะดวกรวดเร็วจากการส่งข้อมูลในรูปแบบไฟล์บนอินเทอร์เน็ต ช่วยลดต้นทุนและการเดินทาง แต่ก็ต้องมีความปลอดภัยจากการถูกแฮกด้วย เพราะกระบวนการทางดิจิทัลยังมีช่องโหว่ ที่เสี่ยงในการปลอมแปลงเอกสาร หรือปลอมแปลงตัวตนได้

NDID คืออะไร รู้จักกับ National Digital ID

NDID แบ่งเป็น 2 ความหมาย ได้แก่

  • NDID มีชื่อเต็มว่า National Digital ID คือ แพลตฟอร์มในการตรวจสอบตัวตน (eKYC) ของผู้ใช้บริการบนโลกดิจิทัล ที่ช่วยให้สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆได้ 100% เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร, การขอสินเชื่อออนไลน์ เป็นต้น
  • NDID อ่านว่า N-D-I-D (เอ็น ดี ไอ ดี) ถ้าเป็นบริษัท จะเรียกว่า National Digital ID Co., Ltd. หรือ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด และเนื่องจากชื่อบริษัทเป็นที่รู้จักเป็นการทั่วไป ทางคณะกรรมการจึงเห็นสมควรให้ตั้งชื่อ N-D-I-D (เอ็น ดี ไอ ดี) เป็นชื่อของผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกัน ในการสื่อสารออกไปวงกว้าง เมื่อผู้ใช้ไปสมัครเปิดบริการ NDID Services ยังผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน หรือ Identity Provider (IdP) ก็ให้เป็นอันรู้กันว่ามาสมัครเข้าระบบ NDID (Onboarding NDID with any IdP)

นอกจากนี้สมาชิกยังสามารถใช้ชื่อทางการค้าของตัวเองประกอบกันได้กับชื่อของบริษัทตัวเองเพื่อบ่งบอกถึงบริการที่เกี่ยวกับ NDID ได้เลย ตัวอย่างเช่น Bank Name – NDID Service

NDID  – National Digital ID ใกล้ตัวคุณมาก จำเป็นต้องรู้

เพราะประเทศไทยกำลังพัฒนา National Digital ID หรือ NDID ในระดับ Infrastructure จึงจำเป็นต้องรู้แนวคิดการทำงานเบื้องต้น เพราะคนไทยก็ต้องใช้ผ่านเทคโนโลยีใหม่นี้แน่นอน อาจใช้เวลาทำความรู้จักหน่อย แต่จะสะดวกขึ้นมากกว่าการยื่นแสดงหลักฐานหรือเอกสารในอดีต

NDID – National Digital ID ใกล้ตัวเราอย่างไร ไม่สมัครได้มั้ย

NDID – National Digital ID จัดเป็น ‘ทางเลือก’ ในการเข้าถึงการให้บริการออนไลน์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และส่วนใหญ่จะได้ใช้ โดยจะเริ่มต้นจากการเปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์ที่ท่านสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเริ่มแล้วใน Q1/2020 หลังจากนั้น จะทยอยเปิดบริการอื่นๆ เช่น การขอสินเชื่อออนไลน์ การเปิดบัญชีหลักทรัพย์ออนไลน์ การสมัครประกันต่างๆ รวมไปถึงบริการที่เกี่ยวโยงกับภาคการศึกษาและสาธารณสุข เป็นต้น
NDID คืออะไร รู้จักกับ National Digital ID

องค์ประกอบของ Digital ID

ปัจจุบัน ระบบนี้จะใช้อ้างอิงจากมาตรฐาน NIST 800-63-3 Digital Identity Guideline ของสหัรฐอเมริกา ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ส่วนหลักๆ คือ

  • Entity ผู้ขอใช้บริการพิสูจน์อัตลักษณ์ ซึ่งก็คือประชาชนทั่วไปอย่างเราที่ต้องพิสูจน์ตัวตนว่าคือตัวจริงก่อนใช้บริการ รวมถึงนิติบุคคลที่ต้องการใช้บริการด้วย
  • IdProvider ผู้ให้บริการด้านการเข้าถึงข้อมูล ทำหน้าที่บริหารข้อมูลในกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแก่ผู้ใช้และ Relying Party
  • Authorising Source หน่วยงานผู้เข้าถึงหรือเป็นเจ้าของข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลดิจิทัล เป็นผู้ยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูลบุคคล มักเป็นหน่วยงานเก็บข้อมูลซึ่งทำหน้าที่นี้อยู่เดิม ได้แก่ กรมการปกครอง หรือ สำนักงานเครดิตบูโร เป็นต้น
  • Relying Party ผู้ให้บริการที่ต้องการข้อมูลยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ เพื่ออนุมัติให้ผู้ใช้ได้รับบริการบางอย่าง โดย Relying Party จะขอข้อมูลจาก IdProvider และ Authorising Source

กระบวนการที่ประชาชนทั่วไป ต้องเจอ มี 2 กระบวนการ ได้แก่ กระบวนการพิสูจน์ตัวตน (Identification) และขั้นตอนการยืนยันตัวตน (Authentication)

ขั้นตอนการพิสูจน์ตัวตน (Identification)

เป็นการนำข้อมูลตัวตนดิจิทัลกับตัวตนบนโลกจริงมาพิสูจน์ว่าเป็นบุคคลเดียวกัน เมื่อแสดงตัวตนแล้วผู้ใช้งานจะได้รับการรับรองโดย IdProvider และได้รับ “ใบรับรองการพิสูจน์ตัวตน” (Credential) เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกรรมต่อไป

ขั้นตอนการยืนยันตัวตน (Authentication)

หลังพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวตนสำหรับช่องทางดิจิทัลแล้ว เมื่อเราต้องการใช้งานทำธุรกรรม จะต้องดำเนินกระบวนการยืนยันตัวตน เพื่อขอรับบริการ

ซึ่งดูแล้วมีหลายขั้นตอน แต่ทำได้อย่างรวดเร็วผ่านทางอินเทอร์เน็ตและ Blockchain จึงไม่ต้องเดินทางยื่นเอกสารหลายที่เหมือนก่อน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ช่วยป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลด้วยการตรวจสอบหลายชั้น และกระบวนการยืนยันข้อมูลจะรวดเร็วและปลอดภัย

National Digital ID (NDID) เกิดขึ้นได้ยังไง

เกิดมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ภาครัฐฯ ที่ต้องการเครื่องมือสำหรับบริการประชาชนที่สะดวกรวดเร็ว รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ (Ease of Doing Business)

อีกส่วนหนึ่งคือภาคอุตสาหกรรมการเงินเห็นปัญหาด้านการยืนยันตัวตนร่วมกัน ทั้งปัญหาด้านประสิทธิภาพความน่าเชื่อถือที่ลดต่ำลงและปัญหาด้านการสิ้นเปลืองทรัพยากรจากขั้นตอนการทำงานที่ล้าสมัย

ด้วยเหตุนี้เอง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) จึงได้ให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ETDA) เป็นแม่งานร่วมกับหลายหน่วยงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ที่นำธนาคารพาณิชย์มาร่วมพัฒนาโครงการ โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทเอกชนชื่อ บริษัท National Digital ID จำกัด เพื่อการบริหารงานที่รวดเร็ว

หน้าที่ของ NDID – National Digital ID คืออะไร

จะเป็นถนนเชื่อมโยงข้อมูลจากทุก Authorising Source และ IDProvider เข้าด้วยกันโดยใช้ระบบ Blockchain ซึ่งรองรับการจัดเก็บข้อมูลจากผู้ใช้จำนวนมหาศาลได้อย่างราบรื่น
แก้จุดอ่อนเรื่องความปลอดภัยของระบบ

โดย NDID ของไทยจะไม่มีการเก็บข้อมูลที่ศูนย์กลาง ทั้งยังเชื่อมโยง IdProvider ให้เข้าถึงกัน เมื่อ Rely Party ต้องการข้อมูลของบุคคลก็สามารถขอจาก IdProvider มากกว่าหนึ่งรายและรวมถึงขอจาก Authorising Source ได้ เมื่อทำธุรกรรมแล้ว IdProvider ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะได้รับข้อมูลใหม่ของ Entity ทำให้การปลอมแปลงทำได้ยากกว่า ทำให้ NDID ของไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆอย่างจีน สิงคโปร์ และอินเดีย ที่รวมกระบวนการไว้ที่ศูนย์กลาง ข้อมูลประชาชนจะส่งออกจากจุดเดียว เสี่ยงต่อการเจาะระบบ และต่างจากอังกฤษที่ IdProvider ไม่ได้เชื่อมต่อกัน หน้าที่การยืนยันความเชื่อถือตกอยู่กับ IdProvider เพียงหน่วยเดียว เสี่ยงต่อการถูกปลอมแปลงได้

ใครสมัคร NDID ได้บ้าง

  • เป็นคนไทยสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี
  • ไม่มีบัญชีที่ถูกกำหนดโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และไม่มีรายชื่อในกลุ่มเฝ้าระวังของธนาคารที่ห้ามรับทำธุรกรรม
  • ต้องมีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร 1 แห่ง
  • ต้องใช้บริการ Mobile App ของแต่ละธนาคาร

ซึ่งสามารถลงทะเบียน NDID นี้ได้ทุกวัน อย่างไรก็ตามช่วงนี้เป็นช่วงทดสอบ บางธนาคารอาจยังไม่พร้อมให้บริการฃ

สมัคร NDID ได้ที่ไหนบ้าง

ตอนนี้ธนาคารที่ให้บริการมีอยู่ 7 รายคือ ธ.ไทยพาณิชย์ , กสิกรไทย , กรุงเทพ , กรุงไทย , กรุงศรีฯ , TMB และ CIMB และจะมีรายอื่นๆที่อาจไม่ใช่สถาบันการเงินมาให้บริการเพิ่มเติม อย่างเช่น Truemoney , Rabbit LINE PAY , Dolphin เป็นต้น

โดยการลงทะเบียนนั้น ท่านสามารถตรวจสอบกับธนาคารที่ท่านใช้บริการ ได้แก่

เคาน์เตอร์ธนาคาร

  • ไปที่เคาน์เตอร์ธนาคารสาขาที่ให้บริการ
  • แจ้งความประสงค์ต่อพนักงานธนาคารว่าต้องการจะลงทะเบียน NDID พร้อมยื่นบัตรประชาชน
  • เจ้าหน้าที่ธนาคารจะแนะนำขั้นตอนในการลงทะเบียน เช่น กรอกข้อมูลลงในระบบ ถ่ายรูป รับเงื่อนไขการใช้บริการระบบ และ/หรือ เปิดใช้บริการ mobile banking ที่ผูกกับ NDID ของท่าน เป็นต้น

แอพพลิเคชั่นของธนาคาร

  • เข้าไปที่แอพพลิเคชั่นของธนาคารที่ท่านเลือก
  • กดเลือก ‘NDID’
  • ระบบจะทำการตรวจสอบ เก็บรวบรวมข้อมูลในฐานข้อมูล และแนะนำขั้นตอนในการลงทะเบียน เช่น กรอกข้อมูลเพิ่มเติม ถ่ายรูป และรับเงื่อนไขการใช้บริการระบบ เป็นต้น ซึ่งไม่ต้องเสียเวลาไปธนาคารเลย ซึ่งตอนนี้การสมัคร NDID นั้นฟรี

ประโยชน์ของ NDID

  • ยกระดับการทำธุรกรรมของประเทศไทยให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และสนับสนุนทำให้เกิดการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ ที่มีความปลอดภัยสูง
  • ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลา ในการใช้บริการ โดยสามารถทำรายการผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้โดยอ้างอิงการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่าการทำธุรกรรมที่มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยสำเนาบัตรประชาชน
  • ลดต้นทุนและเวลาในการเดินทางมาแสดงตนที่สาขาหรือสำนักงาน ลดการกรอกข้อมูล ลดการใช้ปริมาณเอกสารกระดาษเพื่อแสดงตนในการสมัครใช้บริการกับหน่วยงานต่างๆ

โดยหลังสมัคร NDID ผ่านธนาคารที่คุณสมัครแล้ว หากจะเปิดบัญชีของอีกธนาคาร สามารถเลือกเปิดบัญชีและเรียกข้อมูลจากธนาคารที่ลงทะเบียน NDID ในการยืนยันได้ ทำให้สะดวกรวดเร็วไม่ต้องเตรียมเอกสารใหม่

อ้างอิง เว็บไซต์ ndid  , ธนาคารแห่งประเทศไทย

https://www.it24hrs.com/2020/what-is-ndid-digital-id/