วันอาทิตย์, 7 เมษายน 2567

ประคบเย็น ประคบร้อน ! เลือกใช้ให้ถูกอาการ ตามคำแนะนำของแพทย์

12 มี.ค. 2024
6

สวัสดีครับ วันนี้จะมาคลายข้อสงสัย เรื่องของการ ประคบร้อน และ ประคบเย็น ให้ฟังกันอย่างชัดเจนครับ เนื่องจากเราจะได้ยินประโยคนี้กันบ่อยมากว่า ปวดแบบนี้ควรจะประคบร้อนหรือเย็นดีนะ เดี๋ยวคนนู้นบอกประคบร้อน.. คนนี้บอก “ประคบเย็น” ทำเอาสับสนไปหมด เลยต้องบอกก่อนว่า การประคบในทั้งสองรูปแบบนั้น ถือเป็น วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นขั้นพื้นฐาน ที่ใช้ลดอาการบาดเจ็บ หรือ อาการบวมจากการอักเสบ ที่เกิดมาจาก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือ เนื้อเยื้อ ในร่างกายที่ถูกใช้งานแบบผิดวิธี เพราะบ่อยครั้งอาการที่พบ มักจะเกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ข้อเท้าพลิก หรือ แพลง จากการเล่นกีฬา หรือ อาจเกิดจากการใช้งานหนักจนเกินไป ก็สามารถเป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ครับ ซึ่งอาการเหล่านั้น มักแสดงออกในรูปแบบของ ความปวด นั่นเอง

ประคบเย็น ประคบร้อน ! เลือกใช้ให้ถูกอาการ ตามคำแนะนำของแพทย์

คราวนี้ มาถึงการคลี่คลายประเด็นว่า เราจะสามารถเลือกได้อย่างไร ว่าควรใช้การประคบร้อน หรือ เย็น แล้วควรทำในสถานการณ์ไหน? เหตุผลเพราะอะไร? วันนี้เรามีคำตอบให้ครับ

การประคบเย็น

นั้นก็คือ การที่เราใช้ความเย็น เพื่อบรรเทาอาการปวดบวมที่เกิดจากอาการบาดเจ็บ ” แบบเฉียบพลัน ” เพราะปฏิกิริยาเมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บ เส้นเลือดจะมีความอ่อนแอลง มีภาวะการฉีกขาดทำให้เซลล์ต่างๆและของเหลวภายในหลอดเลือดไหลออกมา ไปยังบริเวณอื่นเป็นวงกว้าง และร่างกายของเรานั้นได้ส่งเจ้าเม็ดเลือดขาวเข้าไปจับดักกินเชื้อโรคบริเวณบาดแผล และเกิดการสร้างเกร็ดเลือดเป็นจำนวนมาก เพื่อทำให้บาดแผลเกิดการสมานกันครับ จึงทำให้เราเห็นว่าบริเวณนั้นจะมีอาการบวมในเบื้องต้นนั้นเอง และเจ้าความเย็นเนี้ย เป็นอุปกรณ์ช่วยชั้นดีเลยทีเดียวครับ เพราะว่าถ้าหากเรายิ่งหยุดการอักเสบหรือการลุกลามได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะทำให้กระบวนการอักเสบน้อยลงเท่านั้น แผลก็จะหายเร็วขึ้นครับ ดังนั้นเราจึงควรเลือกวิธีการประคบเย็น เพื่อทำให้เส้นเลือดหดตัว ลดอาการบวม และ ปวดได้ครับ

การประคบเย็น ที่ถูกต้อง

  • สามารถเริ่มประคบได้ทันทีตั้งแต่มีอาการไปจนถึง 48 ชั่วโมงแรก
  • โดยใช้ระยะเวลาต่อครั้ง ประมาณ 15 –  20 นาที  วันละ 2-3 ครั้ง
  • ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ได้ สามารถใช้ได้ทั้ง เจลเย็นสำเร็จรูป (Ice packs) ถุงประคบใส่น้ำแข็ง หรือ ถ้ามี น้ำแข็ง แนะนำให้นำผ้ามารองก่อนจะประคบนะครับ

การประคบเย็น นั้นเหมาะสำหรับใคร

สำหรับคนที่มีอาการ ปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดฟัน ปวดบวมข้อเท้า ข้อเคล็ด เลือดกำเดาไหล หรือ ปวดบวมบริเวณอื่นๆ ที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเพิ่งมีอาการใหม่ๆ เป็นต้นครับ

ข้อควรระวัง การประคบเย็น

ควรละมัดระวังการประคบเย็นในผู้ป่วยที่มีปัญหาการรับรู้ความรู้สึกลดลง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เส้นเลือดในสมองตีบ/แตก เป็นต้น เนื่องจากคนไข้จะไม่สามารถบอกความรู้สึกได้เลยครับว่าอันนี้เย็นเกินไปหรือไม่ ซึ่งหากผิวหนังได้รับความเย็นเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการที่เราเรียกว่า “frostbite” หรือ “บาดแผลจากการถูกความเย็นจัด” ซึ่ง จะทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีขาวซีดและมัน ตามด้วยการเกิดแผลพุพองและบวมในที่สุด และถ้าหากอาการรุนแรงขึ้น เนื้อเยื่อชั้นลึกอาจได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในที่สุดอาจส่งผลให้สูญเสียเนื้อเยื่อนั้นๆ หรือการสูญเสียนิ้วมือหรือนิ้วเท้า (amputation) ได้เลยนะครับ


การประคบร้อน

ประคบร้อน
ประคบเย็น ประคบร้อน ! เลือกใช้ให้ถูกอาการ ตามคำแนะนำของแพทย์

โดยเจ้าความร้อนนั้นมีหลายแบบ มีทั้งความร้อนตื้น และความร้อนลึก โดยความร้อนตื้นเราสามารถพบได้บ่อยและสามารถประคบกันได้ทั่วไปเช่น การนำเอาชุบร้อนน้ำมาอังบริเวณที่ปวด ซึ่งความร้อนจะลงไปไม่ลึกมากครับ โดยเราจะรู้สึกร้อนที่บริเวณผิวหนังก่อนจากนั้นจะค่อยๆลงไปลึกตามระดับความร้อนที่เราใช้ครับ ส่วนทางด้านของความร้อนลึกก็อย่างเช่นพวกอุปกรณ์ที่สามารถให้ความร้อนได้เช่นเครื่องอัลตราซาวด์ เครื่องเลเซอร์ ซึ่งจะเป็นความร้อนลึกลงไปถึงชั้นเนื้อเยื่อที่เราต้องการได้เลยครับซึ่งความร้อนเนี้ยจะช่วยทำให้เส้นเลือดขยายตัว เพิ่มการไหลเวียนเลือด และ ทำให้กล้ามเนื้อในบริเวณที่มีอาการคลายตัว ส่วนใหญ่ใช้เพื่อลดอาการปวด ตึง ของกล้ามเนื้อ ในกลุ่มโรคที่เป็นเรื้อรัง  เช่น อาการปวด คอ บ่า ไหล่ จากออฟฟิศซินโดรม

การประคบร้อน ที่ถูกต้อง

  • สามารถเริ่มประคบได้ หลังมีอาการประมาณ 48 ชั่วโมง
  • โดยใช้ระยะเวลาต่อครั้ง ประมาณ 10 –  15 นาที  วันละ 2-3 ครั้ง
  • สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ เจลร้อน กระเป๋าประคบร้อน หรือ ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนบิดหมาดประคบได้เลย (Warm compress)

ข้อควรระวัง การประคบร้อน

ไม่ควรประคบบริเวณที่มีแผลเปิด เลือดออก หรือ รอยแผลเป็น และในผู้ป่วย กลุ่มโรคที่มีเลือดออกผิดปกตินะครับ

จบไปแล้วนะครับ สำหรับวิธีเลือกใช้การประคบร้อน และ ประคบเย็น ทั้งนี้ ทุกอย่างมีข้อควรระวัง หากไม่มั่นใจ หรือ อาการไม่ดีแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนะครับ และ สุดท้ายต้องขอขอบคุณ พญ.วราลี ปรียวาณิชย์ (แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู) มากๆ ครับ สำหรับการให้ความรู้ที่ถูกต้อง